คนไทยบริโภคแอลกอฮอล์มากแค่ไหน?

Highlight

เปิดสังคมแอลกอฮอล์ไทยพุ่งสู่ 15 ล้านคนในรอบปี 

จำนวนนักดื่มของไทยกำลังพุ่งสูงขึ้น และมีแนวโน้มที่จะเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ อีกด้วย

.

จากการสำรวจพฤติกรรมด้านสุขภาพของประชากร โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่า ในปี พ.ศ. 2564 ประชากรไทยอายุตั้งแต่ 15 ปี ขึ้นไป มีอัตราการดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอลล์ในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา จำนวน 15.96 ล้านคน หรือคิดเป็น 28% โดยลดลงเล็กน้อยจากปี พ.ศ. 2560 จากเดิมที่ 28.41% โดยพบว่า ผู้หญิงมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจาก 10.6% ในปี 2560 เป็นร้อยละ 10.8 ในปี 2564 ในขณะที่ผู้ชายมีอัตราการดื่มฯ ลดลงจากร้อยละ 47.5 ในปี 2560 เป็นร้อยละ 46.4 ในปี 2564 

.

ทั้งนี้พบว่า บรรดานักดื่มไทยมีค่าใช้จ่ายในการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เฉลี่ยต่อคนประมาณ 1,677.23 บาทต่อเดือน เมื่อเปรียบเทียบปริมาณการดื่มแอลกอฮอล์ต่อหัวประชากร ประเทศไทยมีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 7.7 ลิตรต่อคนต่อปีเลยทีเดียว

.

เมื่อสำรวจปัจจัยการเติบโตของอุตสาหกรรมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในประเทศพบว่า มีผู้ผลิตรายใหญ่เข้าครอบครองส่วนแบ่งในตลาด เนื่องจากต้องใช้เงินลงทุนสูงและเทคโนโลยีการผลิตที่ทันสมัย อีกทั้งกฎระเบียบและมาตรฐานโรงงานผลิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ จึงเป็นอุปสรรคในการเข้าสู่อุตสาหกรรมของผู้ประกอบการ SME โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมการผลิตสุราและเบียร์ โดยมีคู่แข่งบริษัทคือครองตลาดรายใหญ่ คือ บจก.บุญรอดบริวเวอรี่ และ บมจ.ไทยเบฟเวอเรจ ที่ครองส่วนแบ่งตลาดสูงสุดถึงกว่า 80% คิดเป็นมูลค่าการส่งออกสูงถึง 370 ล้านบาท

.

วันนี้ #Agenda จะพาไปสำรวจสัดส่วนปริมาณนักดื่มไทยในแต่ละภาคในรอบปีที่ผ่านมา และวิเคราะห์ถึงสาเหตุและพฤติกรรมที่โดดเด่นในแต่ละภาคกัน

.

โดยปัจจัยที่ส่งผลต่อการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แบ่งได้หลายปัจจัย คือ

– ปัจจัยส่วนบุคคล เช่น เพศ อายุ รายได้ต่อเดือน ทัศนคติที่มีต่อแอลกอฮอล์

– ปัจจัยด้านครอบครัว เช่น อิทธิพลจากพ่อ แม่ หรือบุคคลในครอบครัว ส่งผลให้เกิดการลอกเลียนแบบ

– ปัจจัยด้านสภาพแวดล้อม เช่น อิทธิพลจากเพื่อน สื่อ หรือการเข้าถึงแหล่งซื้อ – ขายได้

.

นอกจากปัจจัยต่างๆ เหล่านี้แล้ว ยังมีวัตถุประสงค์ในการดื่มเข้ามาเกี่ยวข้องอีกด้วย โดยส่วนใหญ่การดื่มมักเกิดจาก 2 วัตถุประสงค์ คือ ดื่มเพื่อลดความเครียดหรือเพื่อหลีกหนีจากปัญหาของตนเอง และ การดื่มเพื่อเข้าสังคม โดยทั้ง 2 วัตถุประสงค์ดังกล่าวเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้ผู้คนหันมาดื่มแอลกอฮอล์กันมากขึ้น

.

โดยพบว่า ยิ่งมีระดับความเครียดมากเท่าไหร่ อัตราการดื่มก็ยิ่งสูงมากขึ้นเท่านั้น เช่นเดียวกันกับการดื่มเพื่อเข้าสังคม ยิ่งระดับการเข้าร่วมและจำนวนคนในสังคมนั้นมากเท่าไหร่ อัตราการดื่มก็ย่อมสูงตามไปด้วยเช่นกัน

.

ภาคเหนือ 33%

– เหตุผลที่ทำให้ภาคเหนือมีสัดส่วนนักดื่มเยอะเป็นอันดับหนึ่งของประเทศนั้น คาดว่าเป็นเพราะ ภาคเหนือเป็นแหล่งรวมวัฒนธรรมประเพณีที่มีความหลากหลาย ส่งผลให้เกิดการดื่มเฉลิมฉลองในบางเทศกาลหรืองานรื่นเริงบ่อยครั้ง นอกจากนี้ด้วยบรรยากาศ ทัศนียภาพ ประกอบกับภูมิศาสตร์ต่าง ๆ ที่ไม่เอื้อให้เกิดกิจกรรมอื่น ๆ มากนัก ทำให้ผู้คนในชุมชนจึงมักเลือกการสังสรรค์เป็นกิจกรรมในการเพิ่มระดับความสัมพันธ์ของพวกเขา

.

รวมทั้งด้วยสภาพเศรษฐกิจในระดับภาคยังมีความกระจุกและเติบโตน้อย ส่งผลให้สัดส่วนคนจนมีเยอะ ซึ่งสภาพเศรษฐกิจเหล่านี้เองที่ส่งผลต่อระดับความเครียดของผู้คนและอาจทำให้เกิดการดื่มเพื่อบรรเทาความเครียดได้เช่นกัน ประกอบกันจังหวัดต่างๆ ในภาคเหนือ มีการทำสุราท้องถิ่นมากเป็นอันดับต้น ๆ ของประเทศอีกด้วย โดยจังหวัดน่านเป็นจังหวัดที่มีสัดส่วนนักดื่มเยอะมากที่สุดในประเทศไทย โดยมีมากถึง 43% เลยทีเดียว 

.

ภาคอีสาน 32%

– อีกหนึ่งภาคที่ถือว่ามีสัดส่วนนักดื่มในปริมาณมากเช่นกัน โดยคาดว่า ส่วนหนึ่งเกิดมาจากสภาพสังคมส่วนใหญ่ในภาคอีสานมีจำนวนผู้ใช้แรงงานสูง ซึ่งมีแนวโน้มที่จะรวมกลุ่มดื่มกันเพื่อบรรเทาความเหนื่อยล้าหรือเพื่อสังสรรค์หลังจากผ่านพ้นช่วงเวลาการทำงาน นอกจากนี้ยังขาดการพัฒนาในส่วนต่าง ๆ ของภาคอีสานจนทำให้ประชาชนขาดโอกาสในการเข้าถึงระบบการศึกษา ส่งผลต่อมุมมองที่มีต่อเครื่องดื่มและก่อให้เกิดอิทธิพลภายในครอบครัวอีกด้วย 

.

และเช่นเดียวกันกับภาคเหนือ ภาคอีสานเองก็มักมีการจัดงานรื่นเริงและสังสรรค์บ่อยครั้ง ทำให้การดื่มเพื่อสังคมเกิดขึ้นบ่อยครั้งเช่นกัน รวมทั้งสภาพเศรษฐกิจของภาคอีสานก็มีขนาดเล็กสวนทางกับจำนวนประชากรที่หนาแน่นเป็นอย่างมาก ซึ่งก่อให้เกิดความเครียดและนำไปสู่การดื่มเพื่อหลีกหนีปัญหาเช่นกัน

.

ภาคกลาง(ไม่รวม กรุงเทพฯ) 27%

– สัดส่วนของนักดื่มในภาคกลางมีจำนวนไม่น้อยเช่นเดียวกัน โดยส่วนหนึ่งคาดว่ามาจากความเจริญในภาคกลางที่มีการขยายตัวจากกรุงเทพฯ ทำให้ผู้คนสามารถเข้าถึงเครื่องดื่มได้ง่าย และทำให้สภาพเศรษฐกิจเติบโตและเมืองคึกคักมากขึ้นด้วย แต่การขยายตัวก็นำมาซี่งปัญหาเช่นกัน โดยก่อให้เกิดปัญหาในด้านต่างๆ ที่กระทบต่อคุณภาพชีวิตมากขึ้น ทั้ง ปัญหาความแออัด การจราจร ความสะอาด เป็นต้น 

.

ภาคใต้ 17%

– ภาคใต้มีระดับสัดส่วนนักดื่มน้อยที่สุด เนื่องจากภาคใต้เป็นภาคที่มีสัดส่วนคนนับถือศาสนาอิสลามมากที่สุด ซึ่งเป็นศาสนาที่มีข้อห้ามในการข้องเกี่ยวกับสิ่งมึนเมาโดยเด็ดขาด แต่ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับความเคร่งครัดของแต่ละบุคคล ท้องที่ หรือจังหวัดนั้น ๆ ด้วยเช่นกัน นอกจากนี้ยังมีเรื่องของความปลอดภัยเข้ามาเกี่ยวข้องอีกด้วย จนอาจกระทบต่อการสังสรรค์หรือรื่นเริง ทำให้ผู้คนในภาคใต้ไม่ตัดสินใจเลือกที่จะมานั่งดื่มกินกัน 

.

ทำให้ ปัตตานี กลายเป็นจังหวัดที่มีสัดส่วนของนักดื่มน้อยที่สุดในประเทศ โดยอยู่ที่ 2% เท่านั้น โดยสาเหตุคาดว่าน่าจะเกิดจาก ศาสนา และ ความไม่สงบ ประกอบกับปัตตานีอยู่ในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ทำให้ปัจจัยทางศาสนาและความไม่สงบยิ่งส่งผลกระทบมากขึ้นอีกด้วย

.

กรุงเทพฯ 27%

– แม้จะไม่ใช่ตัวเลขที่สูงมาก แต่สัดส่วนนักดื่มในเมืองกรุงก็ยังคงเทียบเท่ากับภาคกลางและมากกว่าภาคใต้ โดยส่วนหนึ่งคาดว่ามาจากการที่กรุงเทพฯ เป็นศูนย์รวมความเจริญ มีแหล่งการค้ามากมาย ส่งผลให้ผู้คนสามารถเข้าถึงแหล่งซื้อ-ขายเครื่องดื่มได้โดยง่าย ทั้งในส่วนของ ร้านค้า ไปจนถึง ผับ บาร์ ต่าง ๆ นอกจากนี้กรุงเทพฯ ยังเป็นแหล่งสังคมขนาดใหญ่ ทำให้การดื่มกลายเป็นส่วนหนึ่งของการเข้าสังคมไปอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้เช่นกัน

.

นอกจากนี้ อีกปัจจัยหนึ่งที่ถือว่ามีผลอย่างมากคือ อิทธิพลจากสื่อ โฆษณา ต่างๆ ในเมืองที่ผู้คนเข้าถึงโซเชียลมีเดียกันเป็นประจำ สิ่งเหล่านี้มีย่อมส่งผลต่อทัศนคติเชิงบวกต่อการดื่ม การเลือกแบรนด์ในการดื่ม และการตัดสินใจดื่มของผู้คนในพื้นที่นั้นๆ เป็นอย่างมากเช่นกัน

.

เมื่อเปรียบเทียบสัดส่วนนักดื่มในแต่ละภาค พบว่ามีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ เนื่องจากปัจจัยแวดล้อมต่างๆ ที่ส่งผลให้ผู้คนตัดสินใจที่จะบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์กันมากขึ้น ซึ่งอาจจะส่งผลให้เกิดปัญหาต่างๆ ตามมาได้ในอนาคต ในขณะที่ภาคอุตสาหกรรมก็มีผู้ผลิตรายใหญ่จำนวนหนึ่งครองส่วนแบ่งในตลาดเท่านั้น จึงทำให้สังคมต้องมองย้อนกลับมาว่าทำไมจำนวนที่เพิ่มขึ้นของนักดื่มไทย ถึงสวนทางกับโอกาสการแข่งขันในตลาดเครื่องดื่มของไทยที่มีคู่แข่งเพียงไม่กี่รายเท่านั้น

.

ที่มา: สำนักงานสถิติแห่งชาติ, สำนักงานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข, ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน), ศูนย์วิจัยปัญหาสุรา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ หาดใหญ่ สงขลา, ศูนย์ข้อมูลกลางทางด้านศาสนาม, แผนพัฒนาภาค พ.ศ.2560-2565, National Library of Medicine

Popular Topics