Home Social พื้นที่ 6 โซนบน ‘ผังเมือง’ กรุงเทพฯ และปริมณฑล มีอะไรบ้างตามการใช้งาน ?

พื้นที่ 6 โซนบน ‘ผังเมือง’ กรุงเทพฯ และปริมณฑล มีอะไรบ้างตามการใช้งาน ?

0

ใครมาก่อนใคร โรงงาน ชุมชน หรือผังเมือง?

จากเหตุ #โรงงานกิ่งแก้วระเบิด และความรุนแรงของการระเบิดส่งผลกระทบต่อผู้คนในรัศมีรอบด้านนับแสนคนที่ต้องอพยพออกจากพื้นที่

นอกจากคำถามถึงความสามารถในการสั่งการรับมือกับสาธารณภัยของรัฐบาล 

ไปจนถึงการปล่อยให้เจ้าหน้าที่ดับเพลิงและอาสาสมัครหน้างานต่อสู้กับเพลิงมรณะนี้ด้วยอุปกรณ์ที่จำกัดจำเขี่ย

อีกปัญหาถูกยกขึ้นมาพูดถึงอย่างเผ็ดร้อน ก็คือการใช้ที่ดินผิดประเภทบน #ผังเมือง ในโซนกรุงเทพฯ และปริมณฑล เพราะสาเหตุที่การระเบิดของโรงงานสร้างผลกระทบต่อคนจำนวนมาก ส่วนหนึ่งเป็นเพราะพื้นที่ชุมชนและพื้นที่โรงงานอยู่ใกล้กันมาก ทั้งที่ตามปกติแล้วควรจะเว้นระยะห่างเพื่อความปลอดภัย

หลายคนอาจมองว่า เรื่องนี้เกิดจากปัญหาผังเมืองที่ไร้ระเบียบหรือไม่?

แต่ความจริงแล้ว พื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล มีการปรับปรุงพัฒนาผังเมืองรวมออกมาบังคับใช้หลายครั้ง โดยใช้สีเป็นสัญลักษณ์บนผังเมือง และแบ่งตามวัตถุประสงค์การใช้ที่ดิน แบ่งใหญ่ ๆ ได้ 6 ประเภท คือ

ที่ดินประเภทที่ 1 : อยู่อาศัย

– พื้นที่สีเหลือง : ที่อยู่อาศัยหนาแน่นน้อย เช่น ทำเลแถบชานเมือง

– พื้นที่สีส้ม : ที่อยู่อาศัยหนาแน่นปานกลาง เช่น พื้นที่ต่อจากเขตเมืองชั้นใน เพื่อรองรับการขยายของเมือง

– พื้นที่สีน้ำตาล : ที่อยู่อาศัยหนาแน่นมาก เช่น พื้นที่บริเวณเมืองชั้นใน หรือใจกลางเมือง

ที่ดินประเภทที่ 2 : พาณิชยกรรม

– พื้นที่สีแดง : ศูนย์กลางธุรกิจ การค้า การบริการ นันทนาการ และการท่องเที่ยว

ที่ดินประเภทที่ 3 : อุตสาหกรรม

– พื้นที่สีม่วง : ดำเนินกิจกรรมอุตสาหกรรม โรงงานผลิต

– พื้นที่สีเม็ดมะปราง : คลังสินค้า คลังสินค้าสำหรับการขนส่งในระดับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ที่ดินประเภทที่ 4 : เกษตรกรรม

– พื้นที่สีเขียว : เป็นพื้นที่ชนบทและเกษตรกรรม เพื่อส่งเสริมเศรษฐกิจการเกษตร

– พื้นที่สีขาวมีกรอบและเส้นทะแยงสีเขียว : เป็นพื้นที่อนุรักษ์ชนบทและเกษตรกรรม เพื่อรักษาทรัพยากรธรรมชาติของพื้นที่ชนบทและแหล่งเกษตรกรรม

ที่ดินประเภทที่ 5 : อนุรักษ์เพื่อส่งเสริมเอกลักษณ์ศิลปวัฒนธรรมไทย

พื้นที่สีน้ำตาลอ่อน : เป็นพื้นที่อนุรักษ์เพื่อส่งเสริมเอกลักษณ์ศิลปวัฒนธรรมไทย มักอยู่ในเขตกรุงเทพฯชั้นใน อนุรักษ์และส่งเสริมวัฒนธรรม ทำการพาณิชย์ และการท่องเที่ยว 

ที่ดินประเภทที่ 6 : สถาบันราชการ สาธารณูปโภคและสาธารณูปการ

พื้นที่สีน้ำเงิน : สถาบันราชการ สาธารณูปโภคและสาธารณูปการ ที่ดินของรัฐ กระจายอยู่ทั่วกรุงเทพฯ ใช้เพื่อสาธารณะประโยชน์

แล้วใครมาก่อนใคร โรงงาน ชุมชน หรือผังเมือง?

บริษัท หมิงตี้ เคมีคอล จำกัด โรงงานผลิตโฟมและเม็ดพลาสติกก่อตั้งในปี 2532 

ต่อมามีการออกผังเมืองรวมของจังหวัดสมุทรปราการเพื่อบังคับใช้ในปี 2537 ทำให้พื้นที่ที่โรงงานตั้งอยู่เป็นพื้นที่สีส้ม พื้นที่สำหรับอยู่อาศัย

ต่อมาในปี 2544 เมื่อเกิดสนามบินสุวรรณภูมิ ผังเมืองรวมของจังหวัดสมุทรปราการจึงมีการปรับเปลี่ยน ทำให้ที่ตั้งของโรงงานนี้อยู่บนผังเมืองโซนสีแดง ซึ่งเป็นพื้นที่สำหรับพาณิชยกรรม

และแน่นอนว่าการตั้งอยู่ของโรงงาน ขัดต่อการบังคับใช้ผังเมืองรวมทั้งสองชุด เนื่องจากลักษณะการดำเนินงาน ประกอบกับมีการใช้สารเคมีแล้ว โรงงานควรจะต้องตั้งอยู่ในโซนสีม่วง หรือพื้นที่สำหรับทำอุตสาหกรรม

แต่โรงงานก็ยังตั้งอยู่บนที่ดินเดิมจนถึงปัจจุบัน 

ต่อมาชุมชนก็ขยับขยายตามมาทีหลังเรื่อย ๆ 

ดังนั้นลำดับคร่าว ๆ ของ ‘ใครมาก่อนใคร’ ก็คือ โรงงาน ผังเมืองรวม และชุมชนที่ค่อยๆ แน่นหนาขึ้นตามเวลา

เรื่องนี้ทำให้เราตั้งคำถามต่อว่า

ผังเมืองรวมที่บังคับใช้ สามารถบังคับใช้ได้จริงมากน้อยแค่ไหนกันแน่

และการปล่อยให้มีพื้นที่ชุมชนหนาแน่นอยู่ใกล้กับโรงงานอุตสาหกรรมควรถูกมองเป็นปัญหาและแก้ไขอย่างเร่งด่วนหรือไม่

ที่น่าเป็นห่วงก็คือ ในจังหวัดสมุทรปราการยังมีอีกหลายจุดที่มีชุมชนตั้งอยู่ใกล้กับโรงงาน 

เท่ากับว่าเรายังมีความเสี่ยงในการเผชิญเหตุการณ์สาธารณภัยเช่นนี้ได้อีกใช่หรือไม่?

ดังนั้นปัญหาอาจไม่ใช่ใครมาก่อนใคร จะโรงงานมาก่อน หรือชุมชนมาทีหลัง

แต่คำถามสำคัญก็คือ เราจะปล่อยให้ปัญหานี้เกิดซ้ำสอง หรือปรับปรุงแก้ไขก่อนจะเกิดความสูญเสียเหมือนในวันนี้

ที่มา:

– DBD Datawarehouse

– https://www.scb.co.th/th/personal-banking/stories/city-planning-color-zones.html

– https://www.youtube.com/watch?v=mFvcptjIJeY

– https://download.asa.or.th/03media/04law/cpa/mr56-smp.pdf

– https://www.posttoday.com/politic/report/576824

Exit mobile version