Home Insight ขายหนังสือหนึ่งเล่ม ใครได้เงินเท่าไหร่บ้าง?

ขายหนังสือหนึ่งเล่ม ใครได้เงินเท่าไหร่บ้าง?

• ทำไมคนเขียนหนังสือถึงได้ส่วนแบ่งเพียง 10 บาทจากราคาหน้าปก? • Supply Chain ของการทำหนังสือในไทยและต่างประเทศต่างกันอย่างไร?

0

แม้ในไทยจะมีราคาหนังสือสูง เมื่อเทียบกับค่าครองชีพ

แต่รู้ไหมว่าจากราคาหน้าปกหนังสือ 100 บาท

จะไปถึงนักเขียนเพียง 10 บาท

ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น?

คุณสิรภพ มหรรฆสุวรรณ เจ้าของผลงานหนังสือคู่มือ​ท่องเที่ยวชุด “เล่มเดียวเที่ยวได้จริง”  และหนังสือ เริ่มต้นลงทุนหุ้นด้วยตัวเอง (ฉบับมือใหม่)

ผู้ประสบความสำเร็จจากความพยายามตั้งแต่วัยเรียนในการออกหนังสือของตัวเอง

จะมาตอบคำถามผู้ที่สนใจอยากรู้เรื่องราวในวงการหนังสือ กับ #AGENDAInsight  แบบอินไซท์สุด ๆ!


✏️ หลายคนบ่นว่า หนังสือแพง แพงจริงไหม?

ถ้าเทียบกับค่าครองชีพนะ

ราคาหนังสือบ้านเราเล่มนึง ก็ซื้อข้าวผัดกะเพราได้ 4-5 จาน

แต่ต่างประเทศเนี่ย เขาซื้อหนังสือในราคาพอ ๆ กับข้าวหนึ่งมื้อ เหมือนเราซื้อข้าวผัดกะเพราเลย 

แต่ก็ไม่ได้แปลว่าคนทำหนังสือฟันกำไรเกินควรนะ เพราะหนังสือเล่มนึง มันก็มีต้นทุนของมัน ทั้งเขียน พิมพ์ พรูฟ ดีไซน์ การตลาด ส่งวางขาย หลายๆ อย่าง ราคามันก็เลยออกมาตามนี้

ต่างประเทศก็มีต้นทุนพวกนี้ แต่ราคามันไม่แรงสำหรับเค้า ก็เพราะรัฐบาลเข้ามาซัพพอร์ตด้วย

✏️ พูดถึง Supply Chain ของการทำหนังสือในไทยให้ฟังหน่อย ว่ารายได้ไปตกที่ใคร ประมาณเท่าไหร่บ้าง?

จริง ๆ มันแล้วแต่การทำสัญญากันระหว่างนักเขียนและสำนักพิมพ์หรือร้านหนังสือ แต่จะเล่าถึงกรณีส่วนใหญ่ที่เจอแล้วกันนะครับ

หลักๆ ก็จะมี 3 ฝั่ง คือ นักเขียน สำนักพิมพ์ แล้วก็ปลายทางคือร้านหนังสือ 

โดยส่วนใหญ่ ส่วนใหญ่นะ นักเขียนได้รับส่วนแบ่งน้อยที่สุด 

✏️ ฝั่งนักเขียนจะได้ส่วนแบ่งโดยประมาณที่ 10%

แต่ข้อดีก็คือไม่ต้องลงทุนด้านการเงิน การตลาด และอื่น ๆ เนื่องจากทางสำนักพิมพ์เป็นคนจัดการทั้งหมด

แต่ถ้าสั่งสมประสบการณ์และชื่อเสียงได้ในระดับหนึ่งแล้ว นักเขียนจะนิยมเขียนและพิมพ์หนังสือเอง เพราะจะได้ส่วนแบ่งสูงขึ้น

ถ้านักเขียนเลือกจะจัดพิมพ์ด้วยตัวเอง ก็จะได้รับส่วนแบ่งจากราคาปกประมาณ 55% โดยที่ตัวนักเขียนจะต้องบริหารจัดการต้นทุนเองทั้งหมด 

————–

✏️ ฝั่งสำนักพิมพ์ จะได้ส่วนแบ่งโดยประมาณ 45%

ใน 45% นี้ สำนักพิมพ์ก็ต้องรับผิดชอบต้นทุนการพิมพ์และผลิตหนังสือ ซึ่งต้นทุนจุดนี้จะอยู่ที่ประมาณ 25-30% ขึ้นอยู่กับจำนวนหน้าและวัสดุ

แล้วก็ต้องดูการบริหารจัดการทั้งหมด การทำตลาด และจะต้องแบกรับความเสี่ยงในการขาดทุนด้วย หากหนังสือขายได้ไม่ดีเท่าที่ควร

————–

✏️ ร้านหนังสือ จะได้ส่วนแบ่งโดยประมาณ 45%

ในวงการนี้เนี่ย บอกเลยว่าร้านหนังสือ จะมีอำนาจการต่อรองสูงที่สุดในระบบ โดยเฉพาะหน้าร้านหนังสือชั้นนำ

ร้านหนังสือจะเก็บค่า Commissionในการจัดจำหน่ายหน้าร้านจากราคาปกหนังสือ โดยจะแบกรับต้นทุนค่าเช่าและสิ่งอำนวยความสะดวกให้กับผู้ซื้อหนังสือ เช่น พื้นที่ในห้างสรรพสินค้า ค่าพนักงานขาย ค่าขนส่งไปสาขา เป็นต้น

✏️ พอเห็นภาพ Supply Chain ในไทยคร่าวๆ แล้ว แล้วในต่างประเทศเป็นแบบนี้ไหม? 

คือบริบทของ supply chain ในต่างประเทศคนละอย่างกับไทย 

รัฐบาลของเค้า ก้าวเข้ามามีบทบาททั้ง 2 ฝั่ง 

คือฝั่งอุตสาหกรรมทำหนังสือ และฝั่งคนอ่านหนังสือ

หลายประเทศสนับสนุนฝั่งอุตสาหกรรมทำหนังสือตั้งแต่ต้นน้ำยันปลายน้ำ ตั้งแต่ต้นทุนการผลิต โรงพิมพ์ ไปจนถึงการขายหน้าร้าน จึงทำให้คนเข้าถึงหนังสือง่ายขึ้น หนังสือก็ราคาถูกลง คนเลยซื้อหนังสืออ่านเหมือนซื้อข้าวทาน

แต่ของเรา รัฐอาจไม่สนับสนุนอุตสาหกรรมหนังสือ ทำให้ต้นทุนทั้งระบบของการผลิตหนังสือค่อนข้างสูง เมื่อต้นทุนสูง ทำให้ต้องตั้งราคาหนังสือสูงตาม เมื่อราคาหนังสือสูง คนย่อมซื้อน้อยลง และเข้าถึงหนังสือได้ยากขึ้นด้วย

ส่วนฝั่งคนอ่าน ถ้ามีนโยบายส่งเสริมให้คนรักการอ่านตั้งแต่เด็ก มีห้องสมุดที่เข้าถึงง่าย กระจายทั่วถึง ก็อาจทำให้คนอ่านหนังสือเยอะขึ้นกว่าทุกวันนี้ เมื่อมี demand เพิ่มขึ้น ราคาหนังสือก็ถูกลง

✏️ อยากให้สิรภพยกตัวอย่างเพิ่มเติมจากประสบการณ์ที่เจอ ว่ารัฐบาลต่างประเทศซัพพอร์ตอุตสาหกรรมหนังสือยังไงบ้าง?

ยกตัวอย่าง คนไทยอาจมองว่าอ่านการ์ตูนเป็นเรื่องไร้สาระ แต่มองไปที่ญี่ปุ่น หนังสือการ์ตูนหรือมังงะ กลับได้รับความนิยมมากๆ ถ้าเราสนับสนุนให้เด็กอ่านอะไรก็ได้ ไม่ต้องอ่านตามที่ผู้ใหญ่ต้องการ สุดท้ายเด็กก็จะมีนิสัยรักการอ่านเอง จะเห็นได้ว่า เวลาขึ้นรถไฟ ขึ้นรถสาธารณะปุ๊บ คนญี่ปุ่นจะมีหนังสือติดตัว หยิบขึ้นมาอ่านได้เสมอ 

ประเทศสิงคโปร์ มีแข่งอ่านหนังสือมาราธอน มีการจัดกิจกรรมเกี่ยวกับหนังสือ บางสายการบินสนับสนุนด้วยการให้ยืมหนังสือขึ้นไปอ่านบนเครื่องได้ฟรี 

ประเทศฟินแลนด์ สนับสนุนให้มีห้องสมุดทุกเทศบาล ใครเข้ามาอ่านก็ได้ ห้องสมุดจะไม่ได้มีแค่บรรณารักษ์ แต่มีทุกสาขาอาชีพผลัดกันมาทำกิจกรรมให้ความรู้ เพราะฉะนั้นเด็กที่เข้าห้องสมุดก็มีแรงบันดาลใจในอาชีพต่างๆ ทั้งนักดนตรี ครูศิลปะ ฯลฯ ต้องทำห้องสมุดให้คนอยากไป เหมือนอยากไปเดินห้าง ไม่ใช่ทำห้องสมุดให้มันน่าเบื่อ

✏️ คิดว่าทำไมไทยเราไม่ได้ดันอุตสาหกรรมนี้เท่าไหร่?

รัฐอาจจะมองว่า ไซส์ของอุตสาหกรรมหนังสือมันเล็ก อาจไม่ได้ส่งผลกระทบต่อภาพรวมของ gdp

ก็ยอมรับว่าจริง แต่การลงทุนในอุตสาหกรรมหนังสือมันคือการลงทุนอนาคตนะ อาจจะไม่เห็นตัวเลขเศรษฐกิจในวันนี้ 

แต่ผมเชื่อว่าถ้าอุตสาหกรรมหนังสือได้รับการสนับสนุน การสร้างคน สร้างปัญญา มันจะเห็นภาพชัดเจนขึ้นในอนาคตครับ.

ถามคำถาม หรือ Follow คำตอบเจ๋ง ๆ เกี่ยวกับวงการหนังสือ ท่องเที่ยว และการเงิน จากคุณสิรภพได้บน Dinso แล้ววันนี้ ที่ https://dinso.co/user/5ffd7b9732efff55813d4470

Exit mobile version