รายได้ต่อหัวของคนไทยอยู่ตรงไหนในรอบ 50 ปีที่ผ่านมา?

Highlight

จากสถิติรายได้ต่อหัวโดยธนาคารโลกกว่า 50 ปี เราจะพบว่าไทยไม่เคยขยับออกมาจากกลุ่มประเทศรายได้ปานกลาง หรือที่เรียกกันว่า ติดอยู่ในสถานะ ‘กับดักรายได้ปานกลาง’

รายได้ต่อหัวของคนไทยอยู่ตรงไหนในรอบ 50 ปีที่ผ่านมา?

จากสถิติรายได้ต่อหัวโดยธนาคารโลกกว่า 50 ปี

เราจะพบว่าไทยไม่เคยขยับออกมาจากกลุ่มประเทศรายได้ปานกลาง

หรือที่เรียกกันว่า ติดอยู่ในสถานะ ‘กับดักรายได้ปานกลาง’

‘กับดักรายได้ปานกลาง’ หมายถึงประเทศที่ ‘เคย’ เติบโตรวดเร็วจนน่าจับตา แต่กลับไม่สามารถก้าวข้ามจากกลุ่มประเทศรายได้ปานกลาง ไปสู่กลุ่มประเทศรายได้สูงได้ 

ยกตัวอย่างประเทศที่ติด ‘กับดักรายได้ปานกลาง’ เช่น ไทย มาเลเซีย จีน เป็นต้น

ส่วนประเทศที่ประสบความสำเร็จในการพัฒนาสู่กลุ่มรายได้ปานกลางเป็นรายได้สูง ยกตัวอย่างเช่น ญี่ปุ่น สิงคโปร์ ไต้หวัน เกาหลีใต้ และฮ่องกง

————–

เริ่ม ‘ติดกับ’ เมื่อไหร่? 

ในปี 1960 – ปี 1997 รายได้ต่อหัวของคนไทย เพิ่มขึ้นกว่า 30 เท่า ในระยะเวลาเพียงแค่ประมาณ 40 ปี คือจากประมาณ 100 ดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 1960 เป็น 3,042 ดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 1997

แต่วิกฤตเศรษฐกิจในปี 1997 หรือพ.ศ. 2540 ทำให้ทุกอย่างเปลี่ยนไป

เพราะเศรษฐกิจไทยไม่เคยเติบโตได้อย่างเคย

ผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อเนื่อง ทำให้ระหว่างปี 1997 – 2016 รายได้ต่อหัวของไทยเพิ่มขึ้นเพียงประมาณ 2-3 เท่า

ข้อมูลล่าสุดในปี 2019 ไทยมีรายได้ต่อหัวอยู่ที่ 219,325 บาท ซึ่งจัดอยู่ในกลุ่มรายได้ปานกลางค่อนไปทางสูง

————–

จีนและมาเลเซียใกล้หลุดพ้น

จากกราฟในภาพ จะเห็นได้ว่าจีนกับมาเลเซียดูมีลุ้นมากๆ ที่จะหลุดพ้นรายได้ปานกลาง ไปสู่กลุ่มระดับรายได้สูงแล้ว

แล้วทั้ง 2 ทำได้อย่างไร?

จีนนั้นใช้กลยุทธ์ยกระดับการผลิตด้านอุตสาหกรรมด้วยนโยบาย Made in China 2025 เร่งปั้นฝีมือด้านเทคโนโลยี อย่างที่เราน่าจะเห็นชัดว่าเทคโนโลยีของจีนนั้นก้าวหน้าขึ้นชัดเจน

ส่วนมาเลเซียใช้นโยบาย New Economic Model (NEM) ประกอบด้วย 7 กลยุทธ์ เช่น กระจายบทบาทสู่เอกชน ส่งเสริมอุตสาหกรรมเทคโนโลยี ฯลฯ

————–

ไทยกำลังจะตามไป…?

ถ้าอิงตามเป้าหมายหลักของยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (พ.ศ.2561 – พ.ศ. 2580) โดยภาครัฐ ที่ระบุไว้ว่า

“ประเทศไทยมีความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน เป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว ด้วยการพัฒนาตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง”

ซึ่งเป้าหมายที่ 1 คือการทำให้ประเทศไทยเป็นประเทศพัฒนาแล้วภายใน 20 ปีที่ว่า และเข้าร่วมกลุ่มประเทศที่มีรายได้สูง หรือรายได้ต่อหัวมากกว่า 15,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อคนต่อปี 

นั่นหมายความว่า เศรษฐกิจไทยอาจจะต้องขยายตัวในระดับ 5-6% ต่อเนื่องตลอด 20 ปี

ถ้านับๆ ดูแล้ว ตอนนี้ก็เหลืออีกราวๆ 17 ปี ให้เรารอลุ้นกัน

หมายเหตุ:

ธนาคารโลก ได้แบ่งกลุ่มประเทศตามระดับรายได้/หัว ออกเป็น 4 กลุ่มดังนี้

กลุ่มที่ 1 – ระดับรายได้ต่ำ

ประชากรมีรายได้/หัวเฉลี่ย 31,267 บาทหรือน้อยกว่า

กลุ่มที่ 2 – ระดับรายได้ปานกลางขั้นต่ำ

ประชากรมีรายได้/หัวเฉลี่ยระหว่าง 31,267 บาทถึง 122,159 บาท

กลุ่มที่ 3 – ระดับรายได้ปานกลางขั้นสูง

ประชากรมีรายได้/หัวเฉลี่ยระหว่าง 122,159 บาทถึง 378,557 บาท 

กลุ่มที่ 4 – ระดับรายได้สูง

ประชากรมีรายได้/หัวเฉลี่ยมากกว่า 378,557 บาท

Popular Topics