Home Social สรุป ‘กองทุนประกันสังคม’ คืออะไร ทำไมต้องลงทุน และประเด็นคำถามจากสังคม

สรุป ‘กองทุนประกันสังคม’ คืออะไร ทำไมต้องลงทุน และประเด็นคำถามจากสังคม

กองทุนประกันสังคม กำลังจะจ่ายมาตรการเยียวยา แต่กลับประสบปัญหามากมาย กองทุนนี้มาจากอะไร? มีเกณฑ์เลือกลงทุนกับอะไร มากน้อยแค่ไหนบ้าง? และช่วงผ่านมา มี Movement สำคัญอะไรเกี่ยวกับกองทุนนี้ มาดูกัน

0

13 ปีที่แล้ว (ปี 2550) #กองทุนประกันสังคม มีมูลค่า 5 แสนล้านบาท
ปี 2561 มีมูลค่า 1.68 ล้านล้านบาท
ปัจจุบัน มูลค่ากองทุนอยู่ที่ราวๆ 2 ล้านล้านบาท

ถือเป็นกองทุนที่ใหญ่ที่สุดในประเทศกองหนึ่ง
จากเงินของคนไทยกว่า 15 ล้านคน

จากประเด็นที่กำลังเป็นกระแส #แบนศรีพันวา
และพบว่า “สำนักงานประกันสังคม” เป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่อันดับ 1 ของ กองทรัสต์ SRIPANWA
จึงเกิดวิพากษ์วิจารณ์การลงทุนและการทำงานของประกันสังคมมากมาย

#AGENDA เลยขอสรุปแบบกระชับว่า

กองทุนนี้มาจากอะไร? (1. และ 2.)
มีเกณฑ์เลือกลงทุนกับอะไร มากน้อยแค่ไหนบ้าง? (3. และ 4.)
และช่วงผ่านมา มี Movement สำคัญอะไรเกี่ยวกับกองทุนนี้บ้าง (5. และ 6.)

——

1.และ 2.
ที่มาของ ‘เงินสมทบ’ และหน้าที่ของประกันสังคม
ประกันสังคม ตั้งขึ้นเพื่อ ‘สร้าง’ หลักประกัน เวลาเจ็บป่วย ว่างงาน เสียชีวิต ทุพลภาพฯลฯ ให้กับวัยแรงงาน และจ่ายบำเหน็จ บำนาญ ให้แก่วัยเกษียณ

– โดยกองทุนที่ดูแลโดยประกันสังคมนี้ มี 2 ส่วนใหญ่ๆ คือ กองทุนประกันสังคม (มูลค่า 2 ล้านล้านบาท) และกองทุนเงินทดแทน (6.7 หมื่นล้านบาท)

-ที่มาหลักๆ ของเงิน มาจากการสมทบเงินรายเดือนของ 3 ฝ่าย คือ ลูกจ้าง นายจ้าง และรัฐบาล

——

3. ‘ลงทุน’ เพื่อให้กองทุนงอกเงย

เช่นเดียวกับกองทุนทั่วๆ ไป คือ จะมีการนำเงินไปลงทุน เพื่อให้มีผลตอบแทนหนุนให้กองทุนมีรายได้
โดยกองทุนจะมีผู้จัดการกองทุนซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญ มาช่วยนำเงินก้อนนี้ไปบริหารจัดการให้มีกำไรมากที่สุด

——

4. ลงทุนในอะไรบ้าง
ปัจจุบัน #กองทุนประกันสังคม


สัดส่วนการลงทุนนั้นแบ่งหลักๆ เป็น

💵 หลักทรัพย์ที่มั่นคง 80%
(พันธบัตรรัฐบาล ตราสารหนี้ ฯลฯ)

💸 หลักทรัพย์ที่เสี่ยงสูง 20%
(หุ้นสามัญ ทรัสต์ โครงสร้างพื้นฐาน ฯลฯ)

ซึ่งถ้าแบ่งตามแหล่งลงทุน พบว่ากองทุนประกันสังคม
มีสัดส่วนการลงทุนในตราสารหนี้มากที่สุด คือ 3 ใน 4

ตามมาด้วยตราสารทุนและหน่วยลงทุนอสังหาริมทรัพย์
ขณะที่เงินฝากลงทุนเพียงแค่ 1.57%

ส่วนทรัสต์ SRIPANWA นั้น คิดเป็นสัดส่วนการลงทุนเพียงแค่ 0.2%

ส่วนหลักทรัพย์ในตลาดที่ลงทุนมากที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่ PTT, SCC, ADVANC, CPALL, BDMS ตามลำดับ จากทั้งหมดประมาณ 65 หลักทรัพย์

——

5. บอร์ดบริหารที่แต่งตั้งโดย คสช.

กองทุนขนาดใหญ่ ที่มาจากเงินของประชาชน
แน่นอนว่า ประชาชนก็อยากมีบทบาทในการเข้ามาดูแลเงินก้อนสำคัญในชีวิต

เดิม #บอร์ดบริหารประกันสังคม ใช้การเลือกตั้งทางอ้อมผ่านตัวแทนสภาองค์การนายจ้างและสภาองค์การลูกจ้าง ตามกฎหมายแรงงาน

แต่หลังจากการผลักดันโดย #เครือข่ายภาคประชาชน
เดือนมิถุนายน 2558 ความฝันของประชาชน
ที่อยากมีส่วนร่วมในการเลือกตัวแทน ก็สำเร็จลุล่วง

ด้วย “พ.ร.บ.ประกันสังคม ฉบับที่ 4 พ.ศ. 2558” ซึ่งระบุให้เปลี่ยนวิธีการเลือกตั้งผู้แทนฝ่ายนายจ้างและผู้แทนฝ่ายผู้ประกันตน ผ่านวิธีเลือกตั้งโดยตรง

⚡️แต่แล้วไม่ทันไร

วันที่ 8 พฤศจิกายน 2558 หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ก็ใช้อำนาจตาม ม.44 สั่งปลดคณะกรรมการประกันสังคมชุดเดิม แล้วแต่งตั้งคณะกรรมการประกันสังคมขึ้นใหม่

หลังจากนั้น ก็มีข่าวเรียกร้องให้มีการเลือกตั้งบอร์ดบริหารทางตรงมาตลอด โดยมีเสียงคัดค้านจากภาคแรงงานเรื่อยมา
เพราะไม่เห็นด้วย ที่การเมืองจะเข้ามาแทรกแซงเงินกองทุนใหญ่ของประชาชน

โดยทางฝั่งภาครัฐ ก็ชี้แจงกรณีนี้เป็นพักๆ ว่า การเลือกตั้งทางตรงใช้เงินเยอะเกินไป ราวๆ 2-3 พันล้านบาท ไม่คุ้มค่า และกลัวว่าถ้าเลือกตั้งตอนนี้ กองทุนจะขาดคนดูแล

⚡️ แล้วกรณีนี้เกี่ยวข้องกับ #SRIPANWA อย่างไร?

มีผู้ตั้งข้อสังเกตว่า การที่มีการนำเงินไปลงทุนในทรัสต์ SRIPANWA และหลักทรัพย์ใหญ่อื่นๆ เกี่ยวข้องกับกรณีคสช.โละบอร์ดบริหารประกันสังคมหรือไม่ ?

ซึ่งทางประกันสังคมเองก็ได้ออกมาตอบเรื่องนี้ว่า
การตัดสินใจลงทุนใน SRIPANWA และหลักทรัพย์อื่นๆ แบบเจาะจงนั้น ไม่ใช่การตัดสินใจของบอร์ดบริหาร

——

6. จ่ายเงินชดเชยล่าช้า
ตั้งแต่มีวิกฤติ #Covid19

เริ่มมีเสียงลือกันว่าประกันสังคมไม่มีเงินจ่ายชดเชยให้กับผู้สูงอายุและคนว่างงาน

เนื่องจากมีการจ่ายเงินล่าช้ามาตลอด ตั้งแต่มีวิกฤติโควิด ประกอบกับมีข่าวว่าการลงทุนในหลักทรัพย์ต่างๆ ขาดทุน และข่าวการบินไทยล้มละลาย

ทำให้ประชาชนที่รอเคยการชดเชยจำนวนมากไม่พอใจ และมีการประท้วง เช่น กลุ่มขอคืนไม่ขอทาน ที่ประท้วงเงินสมทบชราภาพ เป็นต้น

⚡️ ซึ่งทางประกันสังคมก็ได้ออกมาให้คำตอบเรื่องนี้ว่า

มีเงินให้อย่างแน่นอน
แต่เพราะวิกฤติมีจำนวนคนตกงานมากขึ้น
ทำให้จำนวนเคสที่ยื่นขอเงินชดเชยต่อวันนั้นมีมากถึงกว่า 30,000 เคส
ในขณะที่ capacity ที่ประกันสังคมรองรับได้คือ 3,000 เคสต่อวันเท่านั้น

⚡️ นอกจากนี้ ยังได้มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ถึงระบบ IT ของประกันสังคม ที่ใช้ระบบเดิม คือ Sapiens ประกอบกับการกรอกข้อมูลด้วยมือ ทำให้เกิดความล่าช้าอย่างหนัก

⚡️แต่ความวิกฤติยังทับถมมากขึ้นอีก
เพราะการจะจ่ายเงินชดเชยกลุ่มคนว่างงานได้นั้น
ต้องได้รับการยืนยันจากนายจ้างด้วยว่ามีการว่างงานจริง
ทำให้มีรายชื่อตกค้างนับแสนราย ที่ไม่ได้เงินขดเชยเพราะฝั่งนายจ้างไม่ตอบกลับ

⚡️และทางประกันสังคมก็ไม่มีมาตรการช่วยเร่งรัดให้นายจ้างตอบกลับที่ชัดเจน มีเพียงประกาศขอความร่วมมือเท่านั้น

และทั้งหมดนี้นี่เอง คือหนึ่งใน ‘ต้นตอความยุ่งเหยิง’
และ ‘ขาดความชัดเจน’ ที่เกิดขึ้นกับหน่วยงานกองทุนที่ใหญ่ที่สุดกองทุนหนึ่งจากประชาชน

ที่มา:
– สำนักงานประกันสังคม
– คมชัดลึก
– voicelabour
– mgronline
– sanook
– workpointTODAY
– สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา
– blockdit
– NationTV
– kapook
– thebangkokinsight

Exit mobile version