ปี 2023 ถูกยกให้เป็นปีที่ร้อนที่สุด อุณหภูมิโลกสูงขึ้น 1.5 เซลเซียส
แต่ประเทศสิงคโปร์กลับยังคงเป็นเมืองที่คงอุณหภูมิไว้ได้
ประเทศที่อยู่ใกล้กับเส้นศูนย์สูตรโลก แต่กลับไม่ร้อนเท่าประเทศใกล้เคียง
สิงคโปร์ทำได้อย่างไรในภาวะโลกเดือดเช่นนี้ #Agenda สรุปมาให้แล้ว!
– The Garden City เมืองสีเขียวยกระดับคุณภาพชีวิต
จากนโยบาย ลี กวนยู (Lee Kuan Yew) ที่มุ่งหมายให้ประเทศสิงคโปร์กลายเป็น Garden City เมืองที่เต็มไปด้วยพื้นที่สีเขียว สู่การปลูกต้นไม้ 643,070 ต้นในปีนี้ และต้นไม้ 1,000,000 ต้นภายในปี 2050 โดยพื้นที่สีเขียวนอกจากเพิ่มร่มเงา และลดความร้อนแล้ว ลี กวนยู ยังเชื่อว่า พื้นที่สีเขียวยังจะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของชาวสิงคโปร์ทั้งทางด้านร่างกาย และจิตใจอีกด้วย
.
รวมทั้งยังมีนโยบายในการส่งเสริมให้มีการสร้างพื้นที่สีเขียวภายในตึกหรือสิ่งปลูกสร้าง โดยที่ภาครัฐออกทุนให้ถึง 50% ในการจัดทำพื้นที่สีเขียวดังกล่าว ซึ่งส่งผลให้ประเทศสิงคโปร์มีพื้นที่สีเขียวบนดาดฟ้าของตึกมากถึง 700,000 ตารางเมตร
.
นอกจากนี้ยังได้มีการกำหนดนโยบายว่า หากใครต้องการทำสิ่งปลูกสร้างต้องจัดให้มีสัดส่วนพื้นที่สีเขียวในอาคารเท่ากับพื้นที่สีเขียวที่ได้ทำการโค่นถางไปในการสร้างสิ่งปลูกสร้างนั้นด้วย จึงทำให้เกิดการทดแทนพื้นที่สีเขียวที่หายไปจากการสร้างเมืองนั่นเอง
.
– Cooling System เมืองเย็นด้วยพลังงานทดแทน
อีกหนึ่งระบบที่ประเทศสิงคโปร์นำมาใช้แล้วได้ผลเป็นอย่างดีคือระบบ โรงผลิตน้ำเย็นใต้ดิน “District Cooling System” ซึ่งเป็นระบบที่ดึงน้ำร้อนจากอาคารต่าง ๆ กลับมาทำให้เป็นน้ำเย็น และส่งกลับไปเป็นพลังงานในการทำความเย็นภายในอาคารอีกครั้งหนึ่ง ระบบนี้ช่วยลดการใช้ไฟฟ้าได้มากถึง 40% เทียบเท่ากับการลดปริมาณรถยนต์บนท้องถนนไปได้ถึง 10,000 คันเลยทีเดียว
.
นอกจากนี้ยังมีการพยายามลดการเผาไหม้ และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในเขตเมือง โดยผลักดันให้ระบบคมนาคมใช้พลังงานไฟฟ้าแทน และย้ายโรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงฟอสซิลออกไปจากเมือง รวมทั้งผลักดันให้อาคารต่าง ๆ ติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์บนพื้นที่หลังคาอีกด้วย
.
– Urban Geometry สร้างตึกที่สอดรับกับธรรมชาติ
ปรับเปลี่ยนโครงสร้างการออกแบบผังเมืองเพื่อลดผลกระทบจากความร้อนให้ได้มากที่สุด ทั้งการออกแบบให้อาคารมีรูปทรงเรขาคณิต เพื่อเพิ่มพื้นที่ร่มเงา ทำให้พื้นที่ต่าง ๆ มีช่องลม อากาศถ่ายเทได้มากขึ้น และปรับเปลี่ยนให้มีการใช้วัสดุในการก่อสร้างที่ลดการดูดซับความร้อนมากขึ้น ประกอบกับการใช้สีขาวหรือสีอ่อนในการทาหลังคาเพื่อลดการดูดซับความร้อนอีกด้วย
.
– Water Bodies & Features พื้นที่น้ำช่วยลดความร้อน
นอกจากจะผลักดันให้เกิดการสร้างพื้นที่สีเขียวภายในอาคารแล้ว ยังผลักดันให้มีการการสร้างบ่อน้ำบนดาดฟ้าหรือภายในของอาคารเพื่อเป็นการลดอุณหภูมิพื้นผิวของอาคารอีกด้วย นอกจากนี้การปรับให้พื้นที่สาธารณะซึ่งเป็นพื้นที่กลางเมืองให้เป็นพื้นที่น้ำยังช่วยเพิ่มความชื้นภายในอากาศ และเปิดโอกาสให้ลมช่วยกระจายความเย็นภายในเมืองได้อีกด้วย
.
รวมทั้งการสร้างบ่อน้ำบนตึกและพื้นที่สาธารณะยังช่วยแก้ปัญหาเรื่องปัญหาความขาดแคลนทรัพยากรน้ำของประเทศสิงคโปร์อีกด้วย เนื่องจากบ่อน้ำที่มีการสร้างขึ้นนั้นสามารถกักเก็บน้ำเอาไว้ได้อีกด้วย
– AI Development ยกระดับนวัตกรรมต้านภัยโลกเดือด
สิงคโปร์กำลังผลักดัน AI ให้เป็นยุทธศาสตร์ชาติ และกำหนดให้เรื่องสิ่งแวดล้อมเป็นปัจจัยหลักที่ต้องนำ AI เข้ามาช่วยผลักดันด้วย โดยในปัจจุบัน The National Environment Agency (NEA) of Singapore ได้มีการนำ AI ในการเข้ามาช่วยตรวจจับคุณภาพของอากาศเพื่อลดปัญหามลพิษด้านอากาศและยกระดับสุขภาพให้แก่ประชาชน ซึ่งโปรเจกต์นี้ยังอาจต่อยอดไปจนถึงการคาดการณ์สภาพภูมิอากาศแบบ real-time ในอนาคตอีกด้วย
.
ที่มา: Bigthink, The Momentum, Gridmag, Urban Creature, Urban Green Lab, The straitstimes, Bloomberg, The Standard, National Environment Agency