Home Insight ต้นทุนการกักขังผู้บริสุทธิ์มีมากกว่าที่คิด กรณีศึกษา ต้นทุนของการคุมขังชั่วคราวระหว่างรอการพิจารณาคดีในประเทศสหรัฐอเมริกา

ต้นทุนการกักขังผู้บริสุทธิ์มีมากกว่าที่คิด กรณีศึกษา ต้นทุนของการคุมขังชั่วคราวระหว่างรอการพิจารณาคดีในประเทศสหรัฐอเมริกา

กรณีศึกษา ต้นทุนของการคุมขังชั่วคราวระหว่างรอการพิจารณาคดีในประเทศสหรัฐอเมริกา โดย รศ.ดร. พิภพ อุดร รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

0

กรณีศึกษา ต้นทุนของการคุมขังชั่วคราวระหว่างรอการพิจารณาคดีในประเทศสหรัฐอเมริกา

โดย รศ.ดร. พิภพ อุดร

รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

“คุก” “ตะราง” หรือ “เรือนจำ” แค่ได้ยินก็รู้ว่าไม่น่าเข้าไป ยกเว้นไปเยือนชั่วขณะเพื่อวัตถุประสงค์เฉพาะ เช่น การศึกษาดูงาน ซึ่งผมก็มีโอกาสระหว่างเข้าอบรมหลักสูตรด้านกระบวนการยุติธรรม เมื่อเข้าไปด้านใน ได้เห็นกำแพงสูงที่กั้นโลกภายนอกไว้  ได้ดูพื้นที่คุมขังที่แยกเป็นแดนต่าง ๆ  มีโรงครัว  มีสถานพยาบาล มีสถานประกอบกิจทางศาสนา มีพื้นที่ประหารด้วยการยิงเป้าในสมัยก่อน รวมถึงห้องประหารด้วยการฉีดยาในปัจจุบัน ฯลฯ 

ผมกลับออกมาด้วยความรู้สึกโหวง ๆ อย่างอธิบายไม่ถูก รู้แต่เพียงว่าไม่เหมือนตอนก่อนเข้าไป

ผมยังพบอีกว่าผู้ถูกคุมขังชั่วคราวจำนวนไม่น้อยเป็น “ผู้บริสุทธิ์” แต่ “ถูกคุมขังระหว่างรอพิจารณาคดี” ซึ่งส่วนใหญ่ก็เกิดจากไม่มีเงินหรือหลักทรัพย์มาประกันตัว หรือเกิดจากศาลพิจารณาแล้วเห็นควรไม่ให้ประกันตัวเนื่องจากมี “ความเสี่ยง” ที่ผู้ต้องหาจะ “หนีคดี” หรือ “ทำความผิดซ้ำ” หรือ “วุ่นวายกับพยานหลักฐาน” 

ประสบการณ์ครั้งนั้นมีส่วนทำให้ผมเลือกทำวิจัยเรื่อง “การศึกษาเปรียบเทียบโมเดลประเมินความเสี่ยงเพื่อการปล่อยตัวชั่วคราว (โดยไม่ต้องวางเงินประกัน)” โดยมุ่งเรียนรู้จากกรณีศึกษาในประเทศใหญ่อย่าง “สหรัฐอเมริกา” ซึ่งมีงานวิจัยที่เกี่ยวข้องจำนวนมากเผยแพร่ไว้อย่างกว้างขวาง

ขอนำข้อมูลสืบเนื่องจากงานวิจัย มาแบ่งปันเพื่อประโยชน์สำหรับผู้ที่สนใจดังนี้ครับ

1. ผู้ถูกคุมขังชั่วคราวที่เป็น “ผู้บริสุทธิ์” มีจำนวน “มากกว่า” ผู้ที่ถูกตัดสินว่า “ทำผิดจริง” 

ข้อมูลล่าสุดที่เผยแพร่ในปี 2020 ของสหรัฐอเมริกาพบว่า จากผู้ถูกจับคุมขังชั่วคราวจำนวน 631,000 คน มีเพียง 161,000 คน ที่ถูกตัดสินว่าทำความผิดจริง หรือคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 25% เท่านั้น 

แปลว่า “ทุก 4 คนที่โดนจับเข้าคุกชั่วคราว มีคนทำผิดจริงเพียง 1 คน” ส่วนอีก 3 คน เป็นผู้บริสุทธิ์ที่ถูกคุมขังระหว่างรอพิจารณาคดี พูดง่าย ๆ ก็คือ ผู้ถูกคุมขังชั่วคราวส่วนใหญ่เป็นผู้บริสุทธิ์

2. จำนวนผู้ถูกคุมขังชั่วคราวที่เพิ่มขึ้นในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา “99% เป็นผู้บริสุทธิ์” 

ข้อมูลนี้บ่งชี้ว่าแนวปฏิบัติที่ใช้อยู่น่าจะขัดแย้งกับปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติ และหลักพื้นฐานกฎหมายสากลที่ว่า “ผู้ถูกกล่าวหาถือเป็นผู้บริสุทธิ์จนกว่าจะถูกพิจารณาตัดสินว่ากระทำความผิดจริง” โดยที่ “การแสดงพยานหลักฐานเพื่อพิสูจน์การทำความผิดอย่างชัดแจ้งจนสิ้นข้อสงสัยเป็นหน้าที่ของผู้กล่าวหา”

ดังนั้น ตำรวจ และอัยการจึงมักต้องใช้เวลาและความรอบคอบมากที่สุดในการรวบรวมพยานหลักฐานก่อนที่จะยื่นฟ้องคดี ส่วนศาลก็ต้องใช้เวลาและความรอบคอบมากที่สุดในการพิจารณาคดี ซึ่งแปลว่ารวมขั้นตอนทั้งหมดต้องใช้เวลาไม่น้อย และส่วนใหญ่ก็นานเกินไป จนเกิดคำกล่าวที่ว่า “ความยุติธรรมที่ล่าช้าก็คือความอยุติธรรม (อังกฤษ: justice delayed is justice denied ฝรั่งเศส: justice différée est justice refusée)” 

การส่งผู้ต้องหาที่ถือเป็นผู้บริสุทธิ์เข้าคุกทันทีเป็นการชั่วคราวโดยปล่อยให้ถูกคุมขังยาวนาน ไม่มีกำหนดเวลาปล่อยตัวที่ชัดเจนจึงขัดกับทั้งปรัชญาของกฎหมาย และหลักสิทธิมนุษยชนสากล

3. ต้นทุนการคุมขังชั่วคราวอยู่ที่ “13,600 ล้านเหรียญ หรือกว่า 4 แสนล้านบาท/ปี” 

ตัวเลขดังกล่าวคืองบประมาณของรัฐที่ใช้จริงเฉพาะเพื่อคุมขังชั่วคราวระหว่างรอการพิจารณาคดี ซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายทั้งค่าอาคารสถานที่ ค่าอุปกรณ์ต่าง ๆ ค่าบำรุงรักษา ค่าจ้างพนักงาน ค่าน้ำและอาหาร ค่ารักษาพยาบาล ค่ากิจกรรม และค่าน้ำค่าไฟ เป็นต้น 

ซึ่งไม่ควรต้องเกิดขึ้นเลยหากรัฐมีกลไกอื่น ๆ ในการกำกับดูแลเพื่อปล่อยตัวชั่วคราวระหว่างรอพิจารณาคดี เช่น การประเมินความเสี่ยงโดยใช้โมเดลสถิติและคณิตศาสตร์ประกันภัย การกักบริเวณ รวมถึงการใช้กำไล EM (Electronic Monitoring) เป็นต้น

4. “คุกเปลี่ยนชีวิต” 

ในขณะที่คุกคือระบบที่ออกแบบมาเพื่อ “เปลี่ยนคนร้ายให้เป็นคนดี” โดยริบอิสรภาพชั่วคราว เพื่อให้ผู้กระทำความผิดใช้เวลาในการไตร่ตรองสิ่งที่ทำไป สำนึกผิด กล่อมเกลาจิตใจ ตลอดจนเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ ก่อนกลับออกมาเป็นสมาชิกที่ดีในสังคมอีกครั้งหนึ่ง

แต่การดูแลคุกให้มีคุณภาพดีตามที่ออกแบบไว้ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย จึงมีเหตุการณ์กดขี่ข่มเหง ทำร้ายร่างกายและจิตใจ ล่วงละเมิดทางเพศ ฯลฯ ในคุก ปรากฏให้เห็นเป็นข่าวอยู่เป็นระยะ และทำให้เกิดผลตรงกันข้ามคือ “เปลี่ยนคนดีให้เป็นคนร้าย” 

โดยเฉพาะในกลุ่มผู้บริสุทธิ์ที่ถูกจองจำชั่วคราวทั้งระหว่างรอพิจารณาคดี และระหว่างพิจารณาคดี ซึ่งเผชิญกับการสูญเสียทั้งเวลาแห่งอิสรภาพที่ไม่อาจเรียกคืนกลับมา ชื่อเสียงที่ด่างพร้อย ประสบการณ์ในคุกที่จะติดตัวไปตลอดชีวิต ต่อให้มอบทรัพย์สินเงินทองเท่าใดก็ไม่อาจซื้อเวลาที่สูญเสียไปในคุกกลับมาได้ ต่อให้ใช้ยาที่ดีที่สุดก็ไม่อาจรักษาบาดแผลในใจจากการถูกคุมขังโดยไม่มีความผิดได้ แม้น้ำทั้งมหาสมุทรในโลกก็ไม่อาจชำระล้างความรู้สึกของการถูกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมได้  ผมยังจินตนาการไม่ออกเลยว่าจะมีสิ่งใดที่ชดเชย และเยียวยาพวกเขาได้ หลังจากที่คุกได้เปลี่ยนชีวิตพวกเขาเหล่านั้นไปแล้วอย่างสิ้นเชิง

5. “มีความอยุติธรรมอำพรางตัวอยู่ในกระบวนการยุติธรรม”

เมื่อเริ่มทำวิจัยผมได้ยินว่า “คุกมีไว้ขังคนจน” ด้วยเหตุที่คนจนไม่มีเงิน/หลักทรัพย์มาใช้ในการประกันตัว และการใช้วิจารณญาณในการกำหนดวงเงินประกันในแต่ละกรณีก็แตกต่างกันมากแม้ว่าจะเป็นความผิดที่ใกล้เคียงกัน

Robert Kennedy อัยการสูงสุดของสหรัฐอเมริกา พูดถึงเรื่องนี้ไว้ตั้งแต่ปี 1964 ว่า “คนรวยกับคนจนไม่ได้รับความยุติธรรมที่เท่าเทียมกันในศาลของเรา และไม่มีหลักฐานอะไรในเรื่องนี้ที่จะชัดเจนไปกว่าการกำหนดให้วางหลักทรัพย์เพื่อประกันตัว”

แต่เมื่องานวิจัยก้าวหน้าไปเป็นลำดับ ประโยคที่ผุดขึ้นมาอย่างแจ่มชัดท่ามกลางการประมวลข้อมูลข้างต้นทั้งหมดก็คือ “คุกมีไว้ขังคนบริสุทธิ์” 

ซึ่งก็เป็นข้อเท็จจริงที่ปฏิเสธได้ยากมาก ตราบใดที่ “ประชากรส่วนใหญ่ของผู้ถูกคุมขังชั่วคราว คือผู้บริสุทธิ์ที่รอการพิจารณาคดี” ซึ่งประเด็นนี้ถือเป็นเรื่องใหญ่สุดเพราะสะท้อนความอยุติธรรมที่ฝังตัวอยู่ในกระบวนการยุติธรรม และทำให้เกิดสถาบันวิจัย และองค์กรต่าง ๆ มากมายที่มาร่วมมือกันสนับสนุนให้เกิด “ความเป็นธรรมระหว่างรอการพิจารณาคดี” 

ในขณะเดียวกันก็เพื่อลด “ต้นทุน” ทั้ง ต้นทุนส่วนบุคคล ต้นทุนรัฐ ต้นทุนสังคม ทั้งที่เป็น “ต้นทุนเงิน” และ “ต้นทุนชีวิต” ที่มีมูลค่ามหาศาล ซึ่งเมื่อสูญเสียไปแล้วก็ไม่อาจเรียกคืนกลับมา หรือเยียวยาได้เลย

ท่านที่สนใจงานวิจัยชิ้นนี้สามารถติดต่อขอ pdf file (แจ้งแอดมินผ่านทาง inbox page AGENDA ให้ช่วยประสานงานให้) ได้ครับ

ส่วนท่านที่สนใจค้นคว้าเพิ่มเติม ขอแนะนำแหล่งอ้างอิงที่สำคัญ เช่น Pretrial Justice Institute, Pretrial Justice Center for Courts, Justice Policy Institute, National Association for Court Management, National Center for State Courts, National Institute of Corrections, Prison Policy Initiative และ Laura & John Arnold Foundation เป็นต้น

จากกรณีศึกษานี้ ทำให้เราหันกลับมามองที่กระบวนการยุติธรรมไทยในปัจจุบัน ว่าในเมื่อผู้ต้องหาหรือจำเลยทุกคนพึงได้รับอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว แต่หากศาลท่านไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว ก็ควรมีเหตุอันสมควรเพียงพอ เพราะกระบวนการต่อสู้คดีอาจใช้เวลานานหลายปี จึงต้องคำนึงถึง ‘ต้นทุนชีวิต’ ของผู้บริสุทธิ์ที่ต้องเสียไปจากการถูกคุมขังให้มากขึ้นหรือไม่?

#AGENDA

Exit mobile version