นอกเหนือจากข้าวที่เป็นผลผลิตหลักของประเทศไทย ‘ยางพารา’ นับว่าเป็นสินค้าส่งออกที่สร้างมูลค่าให้ไทยมหาศาล ตลาดยางพาราโลกในปี 2021 มีมูลค่าการซื้อขายยางพาราโดยรวมอยู่ที่ 6.3 แสนล้านบาท และไทยเป็นผู้ส่งออกยางพารามากที่สุดในโลก คิดเป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจมากกว่า 2 แสนล้านบาท
.
แต่ราคาขายยางพาราที่เกษตรกรผู้ปลูกได้รับ กลับสวนทางกับมูลค่าเศรษฐกิจ ในเดือนมิถุนายน ปี 2023 ราคายางพาราส่งออกเฉลี่ยอยู่ที่ 59.40 บาทต่อกิโลกรัม ซึ่งเมื่อคำนวณจากต้นทุนการผลิตยางพาราของไทยในสวนขนาดเล็ก ราคาของยางแผ่นดิบจะอยู่ที่ 49.49 บาทต่อกิโลกรัม หรือพูดง่ายๆ ก็คือเกษตรกรผู้ปลูกยางพาราจะได้กำไรจากยางพาราเฉลี่ยประมาณ 10 บาทต่อกิโลกรัมเท่านั้น
.
ศูนย์วิจัยธนาคารกรุงศรีอยุธยา วิเคราะห์ถึงปัญหาของราคายางพาราที่ตกต่ำในไทย ว่าเกิดได้จากหลายปัจจัย เช่น ปัญหาการถูกกดราคารับซื้อยางพารา ผู้ค้ายางพาราถูกโรงงานหรือผู้ประกอบการรายใหญ่กว่าแย่งตลาด และอีกสาเหตุสำคัญคือ ประเทศคู่แข่งที่ริเริ่มและแข่งขันการปลูกยางพารามากขึ้น
.
แล้วแต่ละชาติส่งออกยางพารามากแค่ไหน? และมีนโยบายหรือกลยุทธ์อะไรที่จะมาแข่งขันกับไทย? #Agenda สรุปมาให้แล้ว
.
ไทย 🇹🇭
ประเทศไทยเป็นประเทศที่ส่งออกยางพารามากที่สุดในโลก โดยส่งออกมากถึง 4.8 ล้านตันต่อปี สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจสูงในแต่ละปีถึง 2 แสนล้านบาท คิดเป็น 33% ของการส่งออกยางพาราทั่วโลก ซึ่งผลผลิตยางส่วนใหญ่ถูกใช้ในอุตสาหกรรมยางรถยนต์เป็นหลัก รองลงมา คือ ยางยืด ถุงมือยางทางการแพทย์ ท่อยาง ถุงยางอนามัย ยางรัด เป็นต้น
.
แม้ว่ามูลค่าการส่งออกยางพาราของไทยจะสร้างรายได้ในภาพรวมมหาศาล แต่ในขณะเดียวกัน ราคาผลผลิตยางพารากลับสวนทางอย่างไม่น่าเชื่อ โดยเฉลี่ยอยู่ที่ 59.40 บาทต่อกิโลกรัม ซึ่งราคาต่ำกว่าคู่แข่งโซนอาเซียนอย่างอินโดนีเซียถึง 26% เพราะเกิดจากปัญหายางพาราที่ล้นตลาดแต่ไม่สามารถแปรรูปได้ทันที รวมถึงภาวะสงครามรัสเซีย-ยูเครนที่ทำให้เศรษฐกิจโลกชะลอตัว
.
นอกจากนี้กลุ่มประเทศ CLMV ได้แก่ กัมพูชา ลาว เมียนมาร์ และเวียดนามหันมาปลูกยางพาราส่งออกแข่งขันไปยังจีน หนึ่งในคู่ค้าที่ใหญ่และสำคัญสุดของไทย ทำให้อุตสาหกรรมยางของไทยต้องปรับตัวด้วยการนำเอานวัตกรรมมาต่อยอดให้เกิดมูลค่ามากขึ้น เช่น หุ่นจำลองจากยางพาราเพื่อการแพทย์ เฝือกสำหรับแขนขา และยางล้อตันประหยัดพลังงาน ที่จะสร้างมูลค่าเพิ่มมากขึ้น เป็นต้น
.
อินโดนีเซีย 🇮🇩
การส่งออกยางพาราของอินโดนีเซียมีปริมาณมากเป็นอันดับสอง รองจากไทย ด้วยจำนวนการส่งออกยางไปต่างประเทศมากถึง 3.5 ล้านตัน สร้างมูลค่าราวๆ 1.5 แสนล้านบาท หรือคิดเป็น 24% ของการส่งออกยางพาราทั่วโลก ซึ่งตลาดส่งออกยางพาราที่สำคัญของอินโดนีเซียได้แก่ สหรัฐฯ จีน และญี่ปุ่น
.
แต่เดิมสายพันธุ์ยางพาราของอินโดนีเซียมีคุณภาพต่ำ ส่งผลต่อราคาผลผลิตของเกษตรกรตกต่ำตามไปด้วย ในปี 2013 รัฐบาลอินโดนีเซียจึงได้ออกนโยบายเพิ่มพื้นที่เพาะปลูกและพัฒนาสายพันธุ์ยางพารา ซึ่งใช้เงินลงทุนไปมากกว่า 1.1 หมื่นล้านบาท ทำให้ราคาผลผลิตกลับมาดีขึ้นอยู่ที่ 80.89 บาทต่อกิโลกรัม
.
นอกจากนี้ Yokohama Rubber บริษัทผู้ผลิตยางรถยนต์ชั้นน้ำของโลก ได้ทำ MOU ร่วมกับ Kirana Megatara หนึ่งในซัพพลายเออร์ยางธรรมชาติรายใหญ่ของอินโดนีเซีย เพื่อเร่งแผนการพัฒนาคุณภาพยางพาราอย่างยั่งยืน โดยรัฐบาลอินโดนีเซียได้ส่งเสริมการผลิตยางพาราเป็นวัสดุที่ทนทานต่อแผ่นดินไหวได้สูงสุดถึง 8 ริกเตอร์ อีกทั้งยังมีแนวคิดที่จะพัฒนาพื้นที่ในเกาะสุมาตราให้เป็นฐานการผลิตยางพาราที่ใหญ่ที่สุดของโลกต่อไป
.
ไอวอรีโคสต์ 🇨🇮
ไอวอรีโคสต์ผลิตยางพาราแข่งขันในตลาดโลกมากเป็นอันดับ 3 ด้วยปริมาณการส่งออกในปี 2021 อยู่ที่ 1 ล้านตัน สร้างรายได้ทางเศรษฐกิจราวๆ 6 หมื่นล้านบาท และครองส่วนแบ่ง 11% ในตลาดยางพาราโลก มีราคายางพาราเฉลี่ยอยู่ที่ 52.77 บาทต่อกิโลกรัม
.
ความจริงไอวอรีโคสต์เป็นประเทศผลิตและส่งออกโกโก้มากที่สุดในโลก แต่เกษตรกรจึงหันมาปลูกยางพารามากขึ้น เพราะสภาพภูมิศาสตร์มีความเหมาะสมในการเพาะปลูก การเก็บเกี่ยวผลผลิตยางพาราก็ใช้ระยะเวลาที่สั้นกว่าการปลูกโกโก้ อีกทั้งการที่รัฐบาลเปิดเสรีในการปลูกยางพาราซึ่งเป็นการดึงดูดบริษัทจากต่างชาติ ทำให้ไอวอรีโคสต์เป็นประเทศที่ส่งออกยางพารามากที่สุดในทวีปแอฟริกาเลยทีเดียว
.
บริษัทศรีตรังแอโกรอินดัสทรี หรือ STA จากประเทศไทย ก็ได้ตั้งศูนย์รับซื้อวัตถุดิบ (Procurement Center) ขึ้นเป็นแห่งแรกที่ไอวอรีโคสต์ในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ซึ่งการเข้ามาของภาคเอกชนอาจส่งผลราคายางตกต่ำลงจากการผลิตยางพาราที่มากขึ้น รัฐบาลจึงเตรียมออกกฎหมายที่ควบคุมให้การส่งออกยางพาราของไอวอรีโคสต์ ว่าต้องอยู่ในรูปแบบยางแปรรูปก่อนส่งออกเท่านั้น
.
เวียดนาม 🇻🇳
แม้ยางพาราจะเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญของเวียดนามรองลงมาจากข้าวและกาแฟ แต่เวียดนามก็ถือได้ว่าเป็นคู่แข่งที่สำคัญในตลาดยางพาราโลก ที่ส่งออกมากเป็นอันดับ 4 ด้วยปริมาณการส่งออกยางพารา 1.3 ล้านตัน สร้างรายได้ไปราวๆ 4 หมื่นล้านบาท คิดเป็น 7% ของปริมาณการส่งออกยางพาราทั่วโลก
.
โดยเวียดนามได้จัดตั้งรัฐวิสาหกิจ Vietnam Rubber Group หรือ VRG เพื่อควบคุมผลผลิตและการแปรรูปยางพารามากถึง 1 ใน 3 ของตลาดยางพาราเวียดนาม ซึ่งสามารถเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ส่งผลให้ราคายางในเวียดนามเฉลี่ยอยู่ที่ 61.56 บาทต่อกิโลกรัม
.
ด้วยเป้าหมายที่จะเป็นเบอร์หนึ่งในภูมิภาคอาเซียน VRG จึงอนุมัติการจัดตั้งเขตการผลิตสินค้าเกษตรโดยใช้เทคโนโลยีขั้นสูงในเมือง Phuic Hia และ Dong Phu ของเวียดนาม รวมถึงข้อตกลงการค้าเสรีสหภาพยุโรป-เวียดนาม (EVFTA) ที่คาดว่าจะช่วยกระตุ้นการส่งออกยางไปยังสหภาพยุโรป จากการยกเลิกภาษีนำเข้ายางพาราที่ผ่านการแปรรูปแล้ว เช่น ยางล้อรถ ข้อต่อยาง ท่อยาง ถุงมือยาง เป็นต้น
.
มาเลเซีย 🇲🇾
หนึ่งในประเทศที่ริเริ่มการปลูกยางพาราเป็นแห่งแรก ๆ ที่ในปัจจุบันส่งออกยางพารามากเป็นอันดับ 5 ของโลก โดยในปี 2021 ได้ส่งออกยางพาราไปประมาณ 5 หมื่นตัน คิดเป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจประมาณ 4 หมื่นล้านบาท คิดเป็น 6.5% ของตลาดยางพาราทั่วโลก ซึ่งส่วนมาประเทศส่งออกหลักคือจีน รองลงมาคือ เยอรมนี ตุรกี สหรัฐฯ และอียิปต์ ซึ่งมีราคาเฉลี่ยของยางพาราอยู่ที่ 68.25 บาทต่อกิโลกรัม
.
จุดเด่นของการผลิตยางพาราในมาเลเซีย คือมีต้นทุนในการผลิต เช่น ค่ากรีดยาง ค่าแรงงาน ค่าขนส่งที่ถูกกว่าไทย รวมถึงการบริหารจัดการด้านราคาจากรัฐบาล โดยรัฐบาลมีนโยบายช่วยเหลือเกษตรกรและผู้ประกอบการที่เรียกว่า Rubber Production Incentive (IPG) ที่จ่ายเงินช่วยเหลือเกษตรกรในกรณีที่ราคายางตกต่ำกว่าเกณฑ์ที่กำหนดไว้
.
นอกจากนี้ e-Global Sourcing Mission หรือ e-GSM โดย Malaysian Rubber Council ที่จัดขึ้นเพื่อสร้างเครือข่ายผู้ซื้อต่างประเทศจาก 14 ชาติทั่วโลกกับผู้ผลิตของมาเลเซียผ่านช่องทางออนไลน์ ทำให้มาเลเซียกลายเป็นฐานการผลิตยางรถยนต์ของแบรนด์ชั้นนำมากมาย เช่น Michelin, Goodyear, Bridgestone และ Hankook ที่คิดเป็นสัดส่วน 80% ของการผลิตยางรถยนต์ทั่วโลก จึงเป็นประเทศที่ทั้งนำเข้าและส่งออกยางพาราในเวลาเดียวกัน
.
แม้ไทยจะครองตำแหน่งผู้นำในการส่งออกยางพารา แต่ราคาผลผลิตที่ตกต่ำ สะท้อนปัญหาภายในทั้งคุณภาพการผลิต การแปรรูป รวมถึงการพึ่งพาตลาดส่งออกหลักเพียงไม่กี่ประเทศ เกษตรกรรวมถึงผู้ที่มีบทบาทเกี่ยวข้องจึงต้องหันกลับมามองถึงวิธีการหรือรูปแบบ ในการแปรรูปยางพาราด้วยเทคโนโลยีขั้นสูงสมัยใหม่ ที่จะสร้างผลิตภัณฑ์จากยางพาราที่สร้างมูลค่าได้มากขึ้นและยั่งยืนในระยะยาว
Sources : OEC, Statista, การยางแห่งประเทศไทย, Krungsri, Reuters, Vietnamnews, Africannews, tirereview, RIA Indonesia, MRC Media